วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2024
ข่าวเด่นอีสานวันนี้

เลือกตั้ง66 : เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตมีขั้นตอนอะไรบ้าง? นับคะแนนยังไง? เช็คเลย

แชร์ข่าวนี้
วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต จะได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว โดยคูหาเปิดตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไปแล้ว จะต้องไปใช้สิทธิในวันดังกล่าว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งจริง 14 พฤษภาคม 2566 ได้แล้ว เพราะพ้นเวลาในการแก้ไขหรือยกเลิกการลงทะเบียน
การเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต มีขั้นตอนบางอย่างที่ยุ่งยากกว่าการเลือกตั้งในวันจริง เนื่องจากในหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตที่หนึ่ง มีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากหลายๆ เขต หลายๆ จังหวัด มาใช้สิทธิในที่เดียวกัน ดังนั้นระบบบางอย่างอาจจะแตกต่างจากวันเลือกตั้งจริงเล็กน้อย มาดูขั้นตอนกันได้เลยว่า คนที่ไปเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ต้องทำอะไรบ้าง?
เช็ค 8 ขั้นตอน ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต
1) ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต เช็คสิทธิเลือกตั้ง และลำดับที่ในบัญชีของตนเอง อย่าลืมพกบัตรประจำตัวประชาชน หรือเอกสารที่ราชการออกให้และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักไปด้วย เช่น หนังสือเดินทาง ใบขับขี่ หรือจะโหลดแอป ThaID เพื่อแสดงบัตรประจำตัวประชาชนแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
ถ้ามีเอกสารที่ได้รับจากการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ไม่ว่าจะเป็นการลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ หรือที่สำนักงานเขต อำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น ให้นำไปเผื่อแสดงเป็นหลักฐานด้วย กรณีที่ลงทะเบียนทางออนไลน์ และบันทึกเอกสารไฟล์ PDF ไว้ตั้งแต่ลงทะเบียน จะนำใส่โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตไปก็ได้ หรือจะปรินท์ไปก็ได้
ถ้าไม่ได้บันทึกเอกสารไว้ตั้งแต่ตอนที่ลงทะเบียน ให้เช็คสิทธิ-สถานที่ไปเลือกตั้ง ว่าระบุข้อมูล วันที่ไปใช้สิทธิ-สถานที่ไปใช้สิทธิ ถูกต้องหรือไม่ โดยการเช็คสิทธิในเว็บไซต์ สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไปแล้ว ข้อมูลด้านล่างหน้าเว็บไซต์จะต้องระบุว่า “การขอไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง” และระบุวันที่เลือกตั้งล่วงหน้า คือ วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ถ้าเช็คสิทธิแล้วขึ้นข้อมูลถูกต้อง ก็ไม่มีปัญหา
เอกสารที่ได้จากการลงทะเบียน จะจำเป็นต้องใช้เมื่อเราลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่พบรายชื่อในบัญชี เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งก็จะขอเอกสารนี้เป็นหลักฐานเพื่อยืนยันว่าเราได้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไปแล้วจริงๆ
เช็คสิทธิ และสถานที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้ที่นี่
2) อย่าลืมเช็คเบอร์พรรคการเมืองเพื่อเลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (บัตรสีเขียว) และเบอร์ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต (บัตรสีม่วง) ของเขตที่เรามีสิทธิเลือกตั้ง ระวัง! อย่าสับสนไปกาเบอร์ผู้สมัครของเขตที่เราเลือกสถานที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
เช็คเบอร์ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต รวมถึงเบอร์พรรคการเมืองได้ที่นี่ หรือแอปพลิเคชัน SmartVote ที่จัดทำโดย กกต.
3) ไปถึงหน้าหน่วยเลือกตั้ง เข้าแถวแยกตามป้ายจังหวัดที่ตนมีสิทธิ : เนื่องจากหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต มีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากทั่วสารทิศมาใช้สิทธิ ในหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ก็จะมีป้ายแยกจังหวัดเอาไว้ ให้เข้าแถวตามป้าย เพื่อรอคิว ระหว่างที่รอ อาจจะเช็คเบอร์ ผู้สมัคร ส.ส. อีกรอบกันลืม
4) แสดงตนกับเจ้าหน้าที่ : แจ้งลำดับที่ในบัญชีรายชื่อของเรา และยื่นบัตรประชาชน หรือเอกสารที่ราชการออกให้และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และมีรูปถ่าย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะให้เราลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขต และเจ้าหน้าที่ก็จะระบุ จังหวัด เขตเลือกตั้ง และรหัสเขตเลือกตั้งที่เรามีสิทธิลงบนซองใส่บัตรเลือกตั้ง ให้ดูด้วยว่าจังหวัดและเขตที่เรามีสิทธิเลือกตั้ง ระบุบนหน้าซองถูกต้องหรือไม่ บนซองจะต้องมีการเจาะรูทั้งสองข้างเพื่อให้เห็นบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบได้จากภายนอก ต่อมา จะส่งบัตรประชาชนและซองใส่บัตรเลือกตั้งของเรา ให้เจ้าหน้าที่คนที่ 2
5) รับบัตรเลือกตั้งกับเจ้าหน้าที่ : หลังจากเจ้าหน้าที่คนที่ 2 ได้รับบัตรประชาชนและซองใส่บัตรเลือกตั้งหนึ่งซองของเรามาแล้ว เจ้าหน้าที่คนที่ 2 จะจดลำดับที่ในบัญชีรายชื่อของเรา ไว้ที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง และให้เราลงลายมือชื่อที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งด้วย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะลงลายมือชื่อกำกับตรงต้นขั้วบัตรเลือกตั้งเช่นกัน แล้วส่งมอบบัตรเลือกตั้งและบัตรประชาชนคืนมาให้เรา
ถ้าหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้พิมพ์ลายนิ้วมือของนิ้วโป้งข้างขวา ถ้าไม่มีนิ้วโป้งขวาให้พิมพ์ลายนิ้วมือนิ้วโป้งซ้าย แต่ถ้าไม่มีนิ้วโป้งทั้งสองข้าง ให้พิมพ์ลายนิ้วมืออื่นแทนและกรรมการประจำหน่วยจะใส่หมายเหตุไว้
6) เข้าคูหา ทำเครื่องหมาย “กากบาท” ในบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ : ในคูหาเลือกตั้งจะมีปากกาเตรียมไว้ให้แล้ว แต่ถ้านำไปเองก็แนะนำให้ใช้สีน้ำเงินเพราะจะอ่านง่ายกว่าเวลาเจ้าหน้าที่นับคะแนน
บัตรเลือกตั้งใบแรก เลือกตั้งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต (สีม่วง) จะมีแค่เบอร์มาให้ ไม่มีข้อมูลชื่อ-นามสกุล ไม่มีโลโก้พรรค ต้องจำเบอร์ให้ดีตั้งแต่แรก
บัตรเลือกตั้งใบที่สอง เลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง (สีเขียว) จะมีโลโก้พรรคการเมืองระบุไว้ในบัตร แต่ถ้าจำเบอร์ได้ก็จะช่วยให้กาไว้ขึ้น
ให้ทำเครื่องหมาย “กากบาท” ในช่องว่างสำหรับทำเครื่องหมาย โดยให้ทำเครื่องหมายกากบาทแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แต่ละบัตรเลือกตั้ง สามารถกาเลือกได้เพียงเบอร์เดียว อย่ากาหลายเบอร์
หากไม่อยากเลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตคนใดเลย และ/หรือ ไม่ประสงค์จะเลือกบัญชีรายชื่อจากพรรคการเมืองใดเลย ให้ทำเครื่องหมายกากบาทในช่อง  “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด”
บัตรเลือกตั้ง 2566 : บัตรสีม่วง สำหรับเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (เลือก ส.ส. เขต)
บัตรเลือกตั้ง 2566 : บัตรสีเขียว สำหรับเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (เลือกพรรคการเมือง)
ระวัง! ข้อห้าม ไม่ควรทำพฤติกรรมดังต่อไปนี้ เพราะบัตรเลือกตั้งนั้นจะกลายเป็น “บัตรเสีย” ไม่ถูกนับเป็นคะแนน
  • ทำเครื่องหมายอื่นนอกจากกากบาท เช่น กากบาทแล้วใส่วงเล็บล้อม ทำเครื่องหมายดาว วาดรูปหัวใจ ทำสี่เหลี่ยม เขียนคำหรือเบอร์พรรคที่จะเลือก
  • ใส่เครื่องหมายกากบาทมากกว่าหนึ่งอันขึ้นไปในช่องเดียว
  • ทำเครื่องหมายกากบาทนอกช่องทำเครื่องหมาย
  • กาเบอร์มากกว่าหนึ่งเบอร์ขึ้นไป
  • เขียนข้อความใดๆ ลงในบัตรเลือกตั้ง
  • ปล่อยช่องเว้นว่างไว้ ไม่กาเบอร์ใดเลย
  • กาทั้งช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด” และกาเบอร์ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต หรือเบอร์บัญชีรายชื่อพรรคการเมืองด้วย
  • กาในช่องที่ไม่มีผู้สมัคร
7) นำบัตรเลือกตั้งใส่ซอง ปิดผนึก ส่งให้เจ้าหน้าที่เซ็นกำกับ : หลังจากกาในช่องทำเครื่องหมายกากบาท ของบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบแล้ว ให้นำบัตรเลือกตั้งใส่ซองใส่บัตรเลือกตั้ง และปิดผนึกซองให้เรียบร้อย อย่าเพิ่งนำบัตรเลือกตั้งไปหย่อนใส่กล่อง แต่ให้นำบัตรเลือกตั้งที่ใส่ซองเรียบร้อยแล้ว ไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบดูก่อนว่าใส่บัตรและปิดผนึกเรียบร้อยหรือไม่ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะลงลายมือชื่อกำกับตรงรอยต่อผนึกซองบัตรเลือกตั้งและปิดทับรอยต่อผนึกซอง ด้วยเทปกาวใส กลไกนี้จะทำให้ช่วยตรวจสอบได้ว่า ซองใส่บัตรเลือกตั้งถูกเปิดหรือไม่

8) หย่อนซองใส่บัตรเลือกตั้งลงหีบ : หลังจากเจ้าหน้าที่จัดการกับซองใส่บัตรเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว ก็จะส่งซองใส่บัตรเลือกตั้งคืนกลับมาให้ ให้นำซองใส่บัตรเลือกตั้ง ไปหย่อนลงในหีบบัตรเลือกตั้ง โดยหีบจะมีใบเดียว และบัตรแต่ละประเภท (เลือกส.ส. แบบแบ่งเขต – บัญชีรายชื่อ) จะถูกนำไปแยกภายหลัง โดยที่ซองใส่บัตรจะมีรูเพื่อให้เห็นว่ามีบัตรสองใบ สองสี

หนึ่งข้อสงสัยสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต คือ บัตรเลือกตั้งที่กาไป จะถูกนับคะแนนอย่างไร เพราะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากหลายเขตหลายจังหวัดมาใช้สิทธิที่เดียวกัน
ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 กำหนดขั้นตอนการจัดการกับบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต และการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไว้ สรุปได้ ดังนี้
1) ทำลายบัตรเลือกตั้งที่เหลือ : หลังจากถึงเวลาปิดหีบเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต 17.00 บัตรเลือกตั้งที่เหลือ ไม่ว่าจะเต็มเล่มหรือไม่เต็มเล่ม จะถูกทำลายด้วยการใช้โลหะแทงกลางบัตรเลือกตั้งทะลุทุกฉบับรวมปกหน้า-หลัง จากนั้นใช้เชือกร้อยรูผูกรวมให้เป็นปึกเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้บัตรเลือกตั้งนั้นถูกนำไปใช้ได้อีก
2) นับจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้ง : เจ้าหน้าที่ (คณะกรรมการประจำที่เลือกตั้งนอกเขต) จะเปิดหีบเลือกตั้งเพื่อนับจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้ง แล้วนำไปบรรจุในถุงพลาสติกใส และเขียนบัญชีจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้งว่ามีกี่ใบ
3) ส่งบัตรเลือกตั้ง : การส่งซองใส่บัตรเลือกตั้งล่วงหน้า จะมีบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ไปรษณีย์ไทย) เป็นผู้รับผิดชอบหลักๆ ในการขนส่ง โดยไปรษณีย์ไทย จะมารับซองใส่บัตรเลือกตั้งทั้งหมด รวมทั้งบัญชีจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้ง ส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ตามที่ระบุไว้หน้าซองใส่บัตรเลือกตั้ง
4) ปลายทางตรวจสอบจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้ง : เมื่อซองใส่บัตรเลือกตั้งถูกส่งถึงปลายทางให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ระบุไว้หน้าซอง จะมีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย (คณะกรรมการการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง) ดำเนินการรับและตรวจนับจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้งจากไปรษณีย์ไทย ว่าตรงตามตัวเลขในจำนวนบัญชีซองใส่บัตรเลือกตั้งที่ต้นทางส่งมาหรือไม่ จากนั้นก็จะทำบัญชีรับมอบซองใส่บัตรเลือกตั้ง
หลังตรวจสอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะนำซองใส่บัตรเลือกตั้งใส่หีบบัตรเลือกตั้งที่เตรียมไว้ และปิดหีบเลือกตั้งโดยใส่สายรัด พร้อมทั้งลงลายมือชื่อกำกับบนสายรัดด้วย จากนั้นจึงนำหีบที่บรรจุซองใส่บัตรเลือกตั้งไปเก็บรักษาไว้ที่ปลอดภัย ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนด
5) ประกาศสถานที่นับคะแนน : ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง จะประกาศสถานที่นับคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตที่ได้รับมา ดังนั้น สถานที่นับคะแนนเลือกตั้งสำหรับบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต อาจไม่ใช่สถานที่เดียวกันกับผู้ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งวันจริง 14 พฤษภาคม 2566 ก็ได้
6) แกะซองใส่บัตรเลือกตั้ง ก่อนนับคะแนน : ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เมื่อถึงเวลา 17.00 น. แล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ไปเบิกหีบมาจากที่เก็บรักษาไว้ นำไปยังสถานที่นับคะแนนบัตรเลือกตั้ง
ก่อนการนับคะแนน เจ้าหน้าที่จะเปิดหีบซองใส่บัตรเลือกตั้งเพื่อตรวจนับจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้ง แล้วเปิดซองออก นำบัตรเลือกตั้งออกจากซอง ใส่บัตรในหีบแยกตามประเภทของบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบ่งเขต กับบัญชีรายชื่อ
7) เริ่มนับคะแนน : หลังจากจัดการแกะซองใส่บัตรเลือกตั้งเรียบร้อย ก็จะถึงขั้นตอนดำเนินการนับคะแนน โดยจะแบ่งเจ้าหน้าที่ (กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง : กปน.) ออกเป็นสองชุด ชุดแรก นับคะแนน ส.ส. แบบแบ่งเขต ชุดที่สอง นับคะแนนบัญชีรายชื่อ
โดยกปน. ของแต่ละชุด ก็จะถูกแบ่งบทบาทอีกเป็นรายคน ดังนี้
คนแรก : หยิบบัตรเลือกตั้งทีละใบ และส่งให้คนที่สอง
คนที่สอง : ดูบัตรเลือกตั้งและอ่านผล
  • ถ้าเป็นบัตรดี จะอ่านว่า “บัตรดี” และอ่านหมายเลขของผู้สมัครที่ได้คะแนน/เลขเบอร์พรรคการเมือง
  • ถ้าเป็นบัตรเสีย จะอ่านว่า “บัตรเสีย”
  • ถ้าเป็นบัตรที่กาในช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด” ก็จะอ่านว่า “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด”
ทั้งนี้ กปน. ก็จะชูบัตรเลือกตั้ง เปิดเผยให้คนที่อยู่บริเวณนั้นสามารถเห็นคะแนนได้
คนที่สาม : ขานทวนคะแนนที่คนที่สองอ่าน และขีดคะแนนลงบนกระดานนับคะแนน โดยจะขีดเป็นหนึ่งขีดต่อหนึ่งคะแนน เมื่อถึงขีดที่ห้าจะต้องขีดขวางทับสี่เส้นแรง และใส่วงกลมหรือวงรีล้อมรอบ ดังนั้น หนึ่งวงกลม/วงรี = ห้าคะแนน
คนที่สี่ : เจาะบัตรเลือกตั้งที่ถูกอ่านแล้ว ใส่ลงในภาชนะเก็บบัตร
8) สรุปผลคะแนนที่นับ : เมื่อนับคะแนนเสร็จเรียบร้อยแล้ว กปน. จะเช็คอีกรอบ โดยนับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนทั้งหมด ว่าตรงกับจำนวนที่ระบุไว้ในบัญชีหรือไม่
จากนั้นก็จะจัดทำรายงานผลนับคะแนนเลือกตั้งสามชุด โดยจะต้องมีหนึ่งชุดที่ส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งด้วย
9) รวมผลคะแนนภายในเขตเลือกตั้ง ประกาศบนเว็บกกต. จังหวัด ภายในห้าวัน : หลังจากนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง จะรวมผลการนับคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้ง ภายในเขตเลือกตั้งนั้นๆ เข้าด้วยกัน ได้แก่ 1) ผลคะแนนจากการใช้สิทธิเลือกตั้งวันจริง 2) ผลคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต 3) ผลคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต 4) ผลคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร
หลังจากนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง จะประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้ง เป็นจำนวนสามชุด ดังนี้
  1. ปิดประกาศไว้ ณ สถานที่รวมคะแนน
  2. ส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (กกต.จังหวัด)
  3. ส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ภายในห้าวันนับจากวันเลือกตั้งที่ 14 พฤษภาคม 2566 (ภายในวันที่ 19 พฤษภาคม 2566) ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ก็จะเผยแพร่ข้อมูลรายงานผลการนับคะแนน ในเว็บไซต์ของกกต. จังหวัด หลังจากนั้น ก็จะเป็นกระบวนการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ต่อไป

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " เลือกตั้ง66 : เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตมีขั้นตอนอะไรบ้าง? นับคะแนนยังไง? เช็คเลย "

ข่าวเด่นอีสานวันนี้ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด