วันที่ 28 ตุลาคม 2564 เวลา 10.30 น. นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดร้อยเอ็ด ณ ห้องประชุมพระเวสสันดร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี นายสนอง ดลประสิทธิ์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดร้อยเอ็ด , นายภิเด่น พงศ์อุดมสุข รักษาราชการแทนปลัดจังหวัดร้อยเอ็ด , หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ขณะนี้พี่น้องชาวเกษตรกรของจังหวัดร้อยเอ็ดประสบปัญหาโรคระบาดในสัตว์ ลัมปีสกิน ซึ่งทำให้สัตว์เลี้ยงวัวควายของพี่น้องเกษตรกรเสียชีวิต โดยจะได้รับการจ่ายค่าชดเชย ในช่วงแรกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ช่วยเหลือเยียวยา แต่เนื่องจากภาวะการเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีข้อจำกัด ทำให้เกิดความช่วยเหลือได้ไม่เต็มอัตราที่กรมปศุสัตว์กำหนดไว้ ในเรื่องนี้ก็มีหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ ฉะนั้นวันนี้เป็นการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เห็นได้ว่ามีค่าใช้จ่ายที่ท้องถิ่นจ่ายยังไม่ถึงอัตราที่กรมปศุสัตว์กำหนด และส่วนหนึ่งกรมปศุสัตว์ยินดีที่จะช่วยเหลือ แต่จากกระบวนการช่วยเหลือต้องทำผ่านทางคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉินระดับอำเภอ ระดับจังหวัด โดยวันนี้ได้เริ่มต้นขออนุญาต ขอประกาศภัย ตั้งแต่วันที่เกิดโรคระบาดลัมปีสกินในพื้นที่ของจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งมีข้อจำกัดทางด้านระเบียบปฏิบัติอยู่ว่า เราประกาศภัยเกิน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่เกิดการระบาดไม่ได้ ต้องไปขอยกเว้นระเบียบ วันนี้จึงนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมของ กชภจ คณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด เพื่อพิจารณาขอดำเนินการยกเว้นหลักเกณฑ์การปฏิบัติกับกรมบัญชีกลางของกระทรวงการคลัง หากได้รับอนุมัติแล้ว เราจะได้ดำเนินการสำรวจความเสียหายในส่วนต่างที่ต้องเร่งช่วยเหลือ แล้วส่งต่อให้ทางกรมปศุสัตว์ สำรวจความเสียหาย ให้กรมปศุสัตว์ใช้เงินงบกลางดำเนินการช่วยเหลือในส่วนต่างตรงนี้ต่อไป
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับด้านปัญหาอุทกภัย ได้เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ขณะนี้เชื่อว่าน้ำจากจังหวัดมหาสารคามได้ท่วมเข้าพื้นที่ของจังหวัดร้อยเอ็ดครบสมบูรณ์แล้ว แต่ระดับน้ำของทางมหาสารคามกับร้อยเอ็ดยังคงไร่เรี่ยกัน คาดว่ามวลน้ำก้อนแรกน่าจะลงไปถึงจังหวัดยโสธรเพราะระดับน้ำในลำน้ำชีที่ยโสธรก็สูงขึ้นแล้ว และในพื้นที่ของจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 8 อำเภอ ระยะทาง 210 กิโลเมตร ที่น้ำชีไหลผ่าน เชื่อว่ามวลน้ำเริ่มเคลื่อนตัวลงสู่ด้านล่างของร้อยเอ็ดแล้ว จุดใหญ่ที่มีผลกระทบมากที่สุด คือ พื้นที่อำเภอจังหาร เนื่องจากมีพี่น้องประชาชนในชุมชนมีที่อยู่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำชีนอกผนังกั้น ก็จะเกิดภาวะน้ำท่วมบ้านชั้นล่าง ชั้นบนยังอาศัยอยู่ได้ เราได้ก็ติดตามให้ความช่วยเหลือดูแล และอีกส่วนคือน้ำไม่ท่วมบ้านแต่ท่วมทางเข้าออกทำให้การคมนาคมสัญจรในชีวิตประจำวันถูกตัดขาด ก็ได้ช่วยเหลือในเรื่องของยานพาหนะในการเดินทางเข้าออก ช่วยเหลือในเรื่องการอุปโภคบริโภค เครื่องยังชีพต่างๆ เพื่อที่จะอำนวยความสะดวก ดูแลความเป็นอยู่ในการดำรงชีวิตของพี่น้องชาวร้อยเอ็ด ต่อไป
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " ร้อยเอ็ดประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดร้อยเอ็ด "